
แต่การลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนจาก ประเทศเมียนมา เข้าสู่ ประเทศไทย ยังคงมีชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองตามเส้นทางธรรมชาติ ผ่านพื้นที่ “โน แมน แลนด์” ที่ติดกับพรมแดนไทย โดยเฉพาะในเขต อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก
ส่งผลให้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องทำหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ที่ติดกับ ประเทศเมียนมา ทุกช่องทางกำชับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ระมัดระวังการลักลอบผ่านแดนตามเส้นทางธรรมชาติอย่างผิดกฎหมาย

นอกจากจะเป็นอันตรายในด้านความมั่นคงแล้วยังอาจนำ ไวรัส “โควิด–19” หลุดรอดเข้ามาระบาดใน ประเทศไทย ได้
หนังสือของ กระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับและเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้

1.การเดินทางเข้ามาในประเทศ ผ่านช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดนหรือจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของการป้องกันโรค สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำสั่งศบค.อย่างเคร่งครัด
2.บูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ชายแดน เฝ้าระวัง ป้องกันการเดินทางเข้าพื้นที่ของบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน

ทั้งนี้ จังหวัดชายแดนไทยที่ติดกับ ประเทศเมียนมา หลักๆมีด้วยกัน10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง แม่ฮ่องสอน และ ราชบุรี
นอกจากมาตรการของ กระทรวงมหาดไทยแล้ว ในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางมาตรการเข้มเฝ้าระวังแรงงานลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนพร้อมยกระดับการสกัดกั้นเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทยเช่นกัน

โดยส่ง “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน” เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อ ไวรัสโควิด–19 ที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 จำนวน 13 คันลงพื้นที่ชายแดนเพื่อตรวจหาเชื้อ ร่วมกับ “จิตอาสาพระราชทาน”
พร้อมทั้งได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ด่านควบคุมโรค บูรณาการความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง ยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคในแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ถือว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อมาแพร่สู่ประเทศไทยได้

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการรองรับ ทั้งเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันโรครวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนการดำเนินงานของ สนง.สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตพื้นที่ชายแดนหากพบการระบาดในพื้นที่
สำหรับขณะนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงหลักๆคือ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทั้ง5อำเภอของจังหวัด เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ทุกอำเภอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงได้มีคำสั่งให้ปิดด่านถาวรทั้ง 2 ด่าน และด่านธรรมชาติ และให้หน่วยงานในแต่ละพื้นที่ตรวจลาดตระเวนในช่องทางธรรมชาติตลอด24ชั่วโมง
อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมกับ อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ค้นหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบผ่านช่องทางชายแดน

นอกจากนี้ได้มีมาตรการยับยั้งและป้องกันที่สำคัญคือ การให้ความรู้ อสต. เรื่องการตรวจคัดกรอง การป้องกันตนเอง รวมทั้งการเฝ้าระวัง ร่วมกับการค้นหาผู้ติดเชื้อและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่
มีการส่ง รถตรวจโรคฯพระราชทาน จำนวน 5 คัน ออกตรวจหาเชื้อเชิงรุกที่อำเภอแม่สอด มีผู้มารับการตรวจมากกว่า 2,600 คน เป็นคนไทยประมาณ 1,600 คน ต่างด้าวเกือบ 1,000 คน
สำคัญที่สุดคือ การเตรียมพื้นที่กักกัน หรือ local quarantine สำหรับกักตัว ซึ่งมีผู้เข้ารับการกักตัวแล้วเกือบ 300 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เป็นผู้ดำเนินการ และมีทางฝ่ายปกครอง โรงเรียน และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ประชาชนจิตอาสา ต่างไปช่วยกันจัดคิว จัดระเบียบ ในการตรวจหาเชื้อและกักกัน
พร้อมกันนี้ให้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้าน ชุมชน ช่วยเฝ้าระวังสอดส่อง หากพบบุคคลต้องสงสัย ให้แจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ทางสายด่วน 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการต่อไป
ส่วนภายในประเทศไทยเองยังคงมาตรการไม่ประมาท “การ์ดอย่าตก” สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกัน “โควิด–19” กลับมาระบาดรอบสองอีก.
ศศิดิศ ชูชนม์ รายงาน
September 15, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/2ZzlKIv
ส่ง “รถตรวจโรคฯ พระราชทาน” สกัดกั้น “โควิด-19” ตามชายแดน - ไทยรัฐ
https://ift.tt/39v22A5
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ส่ง “รถตรวจโรคฯ พระราชทาน” สกัดกั้น “โควิด-19” ตามชายแดน - ไทยรัฐ"
Post a Comment