นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการประสาน ส.ว.ผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดี มี ส.ว.ส่วนหนึ่งเริ่มเข้าใจและเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังตอบไม่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ยังมีเวลาทำความเข้าใจจนกว่าจะถึงวันที่ 23-24 ก.ย. ยังไม่อยากไปเร่งรัดอะไร ส่วนกรณีกลุ่ม ส.ว.อิสระเกือบ 60 คน ระบุว่าอยากให้แก้ไขรายมาตรานั้น ในฐานะประธานวิปรัฐบาลต้องค่อยๆ คุยกับทุกกลุ่ม ตอนนี้มีความเห็นที่หลากหลาย แม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความเห็นที่แตกต่าง แต่หากดูตามญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการยืนยันให้อำนาจ ส.ว. ในการตัดสินใจจนถึงขั้นสุดท้าย หาก ส.ส.ร.ยกร่างมาแล้วก็ยังมีสิทธิ์ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบได้

“เสรี”ประเมิน ส.ว.เสียงแตกแน่
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ทราบว่า มีการตั้งกลุ่ม ส.ว.อิสระประมาณ 60 คนจริง มีแนวคิดอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น แต่ในกลุ่มยังเห็นแตกต่างถึงประเด็นที่จะแก้ไข ในภาพรวมของ ส.ว. 250 คน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนหลายคนขอรอฟังเหตุผลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ เพราะไม่ใช่มีเพียงร่างของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น แต่อาจมีร่างที่ฝ่ายต่างๆเสนอเข้ามาเพิ่มเติมอีก ส.ว.ขอพิจารณาใช้เหตุผลฟังความให้รอบด้าน ไม่ใช่ตั้งธงไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าที่ประชุมวุฒิสภาคงให้ ส.ว.ทุกคนฟรีโหวตลงมติจะรับร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระแรก ในวันที่ 24 ก.ย.หรือไม่ เมื่อถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลยื่นมาด้วย จะเป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ต้องลงมติรับร่างวาระแรกหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจของรัฐบาล นายเสรีตอบว่า คิดว่า ส.ว.คงไม่ได้ลงมติไปทางเดียวกันทั้งหมด ความเห็นของ ส.ว.แต่ละคนไม่ได้ยึดโยงกับร่างของพรรค พปชร. เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ส่งสัญญาณอะไรมาให้ ส.ว.ลงมติ เพราะเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ ส.ว
กลุ่มอิสระไม่เอา ส.ส.ร.ยกร่าง
นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้มี ส.ว.ที่เห็นด้วยกับกลุ่ม ส.ว.อิสระ เข้าร่วมกลุ่มเกิน 60 คนแล้ว แต่ยังมีความเห็นที่ไม่ตกผลึกร่วมกัน มีถอนตัวไปแล้ว 1 คน กลุ่มที่รวมตัวนั้นส่วนใหญ่เป็นพลเรือน มี ส.ว.ที่เป็นอดีตข้าราชการทหาร 1-2 คนเท่านั้น ในวันที่ 8 ก.ย. ส.ว.กลุ่มอิสระจะหารือกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวคิดเบื้องต้นคือไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง ให้มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะที่ผ่านมามี ส.ส.ร.มาแล้วหลายชุด หากยังเลือกตั้ง ส.ส.ร. เท่ากับจะได้ตัวแทนนักการเมือง เมื่อได้เงาของ ส.ส.มายกร่าง เชื่อว่าความขัดแย้งไม่จบสิ้น และจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกับอีกกลุ่ม ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 เท่าที่มีการหารือกัน ส.ว.ไม่มีปัญหาที่จะตัดอำนาจร่วมเลือกนายกฯ
สุดท้ายต้องรอรัฐบาลกดปุ่มสั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากวุฒิสภาว่า ขณะนี้ภายในวุฒิสภามีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่สงวนท่าทีขอรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆค่อยตัดสินใจ เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีอยู่ประมาณร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.กลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีอยู่ประมาณ 20-30 คน มีจุดยืนชัดเจนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร. หรือแก้เป็นรายมาตรา เพื่อลดความ ขัดแย้งในประเทศ อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน รวมถึง ส.ว.แถบภาคอีสานที่ใกล้ชิด ประชาชนในพื้นที่ รับรู้ถึงความต้องการของชาวบ้าน 3.กลุ่ม ส.ว.อิสระ 60 คน ที่แม้จะแสดงเจตนาพร้อมแก้ไขมาตรา 272 แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการแก้เฉพาะรายมาตราเท่านั้น ไม่เอาการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจน คงต้องรอการส่งสัญญาณสุดท้ายมาจากฝั่งรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
กกต.ชง ครม.ออก ก.ม.ประชามติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ที่บัญญัติให้กรณีที่มีเหตุอันสมควร ครม.จะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดที่ไม่ใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ที่บัญญัติให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการให้มีการออกเสียงประชามติ และมาตรา 256 (8) ที่บัญญัติให้ในกรณีที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ฝ่ายค้านได้ 10 ชม.ซ้อมซักฟอก
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียน เลขานุการของประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มาหารือเรื่องการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ฝ่ายค้านได้เวลา 10 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล ทั้ง ส.ส. และการชี้แจงของรัฐมนตรี ได้เวลา 5 ชั่วโมง เวลาที่จัดสรรดังกล่าวเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น หากการอภิปรายพบประเด็นที่ถูกอภิปรายเพิ่มเติม รัฐมนตรีมีสิทธ์ิได้เวลาชี้แจงเพิ่มเติม จากนั้นวันที่ 10 ก.ย. จะมีการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ต่อ
พท.มุ่งเปิดแผลบริหาร ศก.เจ๊ง
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเตรียม ส.ส.อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติไว้ 15 คน ยังไม่รวม ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นที่ยังไม่รู้จะมีผู้อภิปรายกี่คน พรรคเพื่อไทยจะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีผลเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการเมือง เพื่อให้รัฐบาลหาทางแก้ปัญหาเพราะการแก้ปัญหาแบบเดิมๆด้วยการแจกเงิน ไม่ได้ผล คาดหวังว่าประชาชนจะได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้ว่าจะมีความหวังหรือหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ และจะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลกระตือรือร้นทุ่มเทการแก้ปัญหาให้มากขึ้นกว่าเดิม

5 เงื่อนไขสุกงอมขับไล่รัฐบาล
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มี 5 เงื่อนไขที่พร้อมสุกงอมเป็นปัจจัยขับไล่รัฐบาล ได้แก่ 1.การประชุมสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ฝ่ายค้านจะเปิดแผลการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล 2.วันที่ 10 ก.ย. พิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.วันที่ 16-18 ก.ย. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 4.วันที่ 19 ก.ย. ครบรอบ 14 ปีรัฐประหารปี 2549 ที่เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่เช็กบิลรัฐบาล ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน จะมีความชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกหรือยุบสภา 5.วันที่ 23-24 ก.ย. ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ปัจจัยผลไม้พิษจากต้นไม้ที่เป็นพิษ กำลังส่งผลต่อรัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ แต่บ้านเมืองเสียหาย วันนี้กำลังกลายเป็นปัจจัยที่สุกงอม นำไปสู่การขับไล่รัฐบาล
ขยี้เทกระจาด 3 พันเอื้อเจ้าสัว
นายอนุสรณ์ยังกล่าวถึงกรณีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี พาดพิงถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาท้วงติงมาตรการที่รัฐบาลเตรียมแจกเงิน 3,000 บาท ที่เป็นการเอื้อนายทุนว่า คุณหญิงสุดารัตน์ห่วงใยมาตรการแจกเงินของรัฐบาลที่ล้มเหลว จึงแนะนำด้วยความปรารถนาดี ถึงมาตรการแจกเงินจะไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แจกเงินไม่เป็น เป็นสิ่งที่ประชาชนกังวล เพราะขณะนี้รัฐบาลกู้จนหนี้สาธารณะประเทศจะทะลุเพดานร้อยละ 60 ของจีดีพี ทะลุกรอบการเงินการคลังของประเทศ รัฐบาลควรใช้เงินจากเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงจากวิกฤติเศรษฐกิจก่อน ไม่ใช่เอาเงินกู้ไปแจกแบบ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่ ไทยแลนด์โอเพ่น” เทกระจาดแจกฟรีให้ใครก็ได้ที่ไปลงทะเบียนขอใช้สิทธ์ิ 15 ล้านคนแบบนี้

“โจ้” ลากเรือดำน้ำไปซ้ำในสภาฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน แถลงกรณีกองทัพเรือชี้แจงความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเรือดำน้ำให้ได้ ว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำต้องเป็นการลงนามแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) เท่านั้น ห้ามไปข้องแวะกับบริษัทเอกชน แต่กองทัพเรือไปลงนามกับบริษัท China Shipbuilding and Offshore International Company (CSOC) ซึ่งนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่เคยระบุว่ามอบหมายให้บริษัทใดมาเป็นตัวแทนลงนาม บริษัท CSOC ไม่ใช่รัฐบาลจีน กองทัพเรือไม่เคยพูดว่าประธานาธิบดีจีนมอบให้บริษัทใดมาลงนามแทนรัฐบาลจีน หรือไม่ ส่วนที่กองทัพเรือระบุการจัดซื้อทำอย่างถูกต้องตามมติ ครม.นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 178 ระบุชัดเจนว่าหนังสือสัญญาอื่นที่อาจกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และพิจารณาเสร็จใน 60 วัน นับแต่ได้รับเรื่อง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยส่งให้รัฐสภาพิจารณา วันที่ 9 ก.ย.นี้ จะเปิดหลักฐานเด็ดว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มาจากรัฐบาลจีน และกองทัพเรือไม่ได้ซื้อแบบจีทูจี หลักฐานดังกล่าวจะสะเทือนไปถึงการซื้อเรือดำน้ำลำแรกด้วย เรื่องนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดู มีหลักฐานพร้อมนำไปเปิดในสภาฯ
จัดหนักจี้ “สันติ” แจงสองปมร้อน
นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่จะนำไปอภิปราย คือ สาเหตุที่นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจาก รมว.คลัง ที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเส้นทางหมอชิต-คูคต ออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่สัญญาเก่ายังเหลืออีก 10 ปี จะหมดอายุปี 2572 เนื่องจากบีทีเอสต้องการต่อสัญญาโดยไม่เปิดประมูลใหม่ โดยพบว่าก่อนนายอุตตม สาวนายน ลาออกจาก รมว.คลัง 1 วัน คือวันที่ 15 ก.ค. ได้ถอนเรื่องต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือออกจาก ครม. เพราะกลัวทำผิดกฎหมาย แต่หลังจากนายอุตตมลาออก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ทำหน้าที่รักษาการ รมว.คลัง นำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุม ครม. ถือเป็นการวางยานายปรีดี จนต้องตัดสินใจลาออก นายสันติต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ว่าเหตุใดจึงลักไก่นำเรื่องที่ถูกถอนออกจาก ครม.ไปแล้ว กลับเข้ามาอีก รวมถึงจะพูดเรื่องปมปัญหาวุฒิการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ของนายสันติด้วย
“เทพไท” ชี้หยุดยาวกระตุ้น ศก.ดี
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในช่วงวันหยุดยาวชดเชยวันหยุดสงกรานต์ พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.นครศรีธรรมราชจำนวนมาก ทำให้มีเงินสะพัดสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเป็นอย่างดี ห้องพักโรงแรมเต็มหมดทุกแห่ง ต้องเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้สนามบินนครศรีธรรมราชคับแคบขึ้นมาทันที จนเจ้าหน้าที่ประจำสนามบินแทบไม่มีเวลาว่างพักระหว่างชั่วโมง ขอเรียกร้องให้ผู้อำนวยการสนามบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาความแออัดในสนามบิน และปรับตารางบินให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารสายการบินต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินประจำสนามบินด้วย
พลังชลมุ่งทำงานเพื่อประชาชน
อีกเรื่อง นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังชล กล่าวว่า วันที่ 12 ก.ย. ทางพรรคจะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ที่โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จ.ชลบุรี นอกจากมีวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการเงิน และการดำเนินกิจกรรมของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงพิจารณาแผนดำเนินการของปีต่อไป ยังจะหารือถึงการดำเนินการทางการเมืองของพรรค ที่ในอนาคตเราจะต้องดำเนินกิจกรรมตามรูปแบบกติกาที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมนำกระแสสังคมมาพิจารณาต่อท่าทีทางการเมืองของพรรค เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย และความต้องการของประชาชน ตามแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป เพื่อให้พรรคพลังชลตอบสนองความต้องการและเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง
มท.ชงตั้ง ผวจ.–ผู้ตรวจฯ 24 ตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 8 ก.ย.นี้ กระทรวงมหาดไทยจะเสนอรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง (ซี10) ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 14 ตำแหน่ง และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 10 ตำแหน่ง รวม 24 ราย ซึ่งมีการสอบวิสัยทัศน์รองผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเลื่อนขึ้นตำแหน่งดังกล่าวไปเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้มีตำแหน่ง ผวจ.ที่เกษียณอายุราชการยังว่างอยู่อีก 8 จังหวัด คือ จ.หนองบัวลำภู สตูล ชุมพร ตรัง อ่างทอง อุตรดิตถ์ ระนอง และแพร่ อีกทั้งยังมีจังหวัดที่มี ผวจ.ย้ายออกไปขึ้นจังหวัดใหญ่ และยังไม่ได้ตั้ง ผวจ.เข้าไปทำหน้าที่ 6 จังหวัด คือ จ.สุโขทัย มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยนาท แม่ฮ่องสอน และยโสธร อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีการเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์นี้ อาจมีการเสนอในสัปดาห์ถัดไป โดยต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือน ก.ย. เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายในระดับรองลงไปให้ทันก่อนเดือน ต.ค.
รบ.โต้แอมเนสตี้ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ
วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีแอมเนสตี้ Amnesty International (AI) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล สำนักงานใหญ่กรุงลอนดอน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกร้องทางการไทยยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาแกนนำ 31 คน ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงดังนี้ 1.รัฐบาลมิได้ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ สอดคล้องกับบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคี 2.สนับสนุนการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น 3.เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ใช้ความระมัดระวังหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ การดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางราย เป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
ยันทำตาม รธน.–กฎหมายสากล
นายอนุชากล่าวต่อว่า การรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏหลักฐานตามสมควรว่าการทำกิจกรรมที่ผ่านมา เป็นการกระทำผิดที่มีโทษทางอาญา มีการขออนุมัติศาลออกหมายจับ และส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่แกนนำบางรายที่ทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกัน ศาลจึงมีการเรียกไต่สวน และถอนประกัน ยืนยันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ
สนท.เรียกร้องปล่อย “อานนท์–ไมค์”
ต่อมาเวลา 15.00 น.ที่หน้าศาลอาญา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) ร่วมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย นัดหมายจัดกิจกรรมถามหาความยุติธรรมในกระบวนการที่ออกหมายจับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ประจำศาล นำโซ่มาคล้องกุญแจปิดบริเวณประตู 8-9 และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน จัดกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 40 นาย มาคอยดูแลสถานการณ์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังนำแผ่นประกาศข้อกำหนดศาลอาญาขนาดใหญ่ ที่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียง หรือกระทำการใดให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล มาวางตั้งให้ผู้ชุมนุมเห็นด้วย

ศาลอาญาสั่งปล่อยตัวทั้งคู่แล้ว
กระทั่งเวลา 16.00 น.เศษ ศาลอาญาออกข่าวแจกสื่อมวลชนความว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ศาลอาญานัดไต่สวนคดีที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก โดยหลังจากศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา ในส่วนของนายภาณุพงศ์ จาดนอก ศาลได้พิเคราะห์ถึงอายุอาชีพ และพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ถูกกล่าวหาให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว สมควรให้โอกาสแก่นายภาณุพงศ์โดยได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีประกันในวงเงินเพิ่มเป็น 200,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และให้นายภาณุพงศ์มารายงานตัวทุก 15 วัน ซึ่งต่อมาผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเข้ามาใหม่ ศาลจึงให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและรับตัวไว้หมายขัง ต่อมาวันนี้ (7 ก.ย.) พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการฝากขังนายอานนท์ และนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาทั้งสอง โดยระบุเหตุผลในคำร้องว่าได้ทำการสอบสวนมาพอสมควรแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างการสอบสวนอีกต่อไป ศาลพิจารณาแล้วให้หมายปล่อยผู้ต้องหาทั้งสอง โดยแจ้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทราบแล้วเพื่อปล่อยตัวต่อไป
“อานนท์” ประกาศยกระดับสู้
จากนั้นเวลา 17.15 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ได้รับการปล่อยตัวภายหลังถูกคุมขัง 5 วัน เนื่องจากพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยกเลิกคำร้องฝากขัง โดยให้เหตุผลว่าสอบปากคำได้บางส่วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องคุมขังระหว่างการสอบสวนอีกต่อไป โดย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้เดินออกมาส่งทั้งคู่ด้วยตัวเอง นายอานนท์กล่าวว่า เพิ่งทราบอย่างฉุกละหุกว่าตำรวจเพิกถอนการฝากขังพวกตน แต่การปล่อยตัวพวกตนครั้งนี้ นับเป็นการให้กำลังใจต่อนักต่อสู้และคนที่โดนคดีทุกคน โดยการต่อสู้ของพวกตนมีความสำคัญในทุกก้าวย่าง ตั้งแต่ฝากขังจนถึงถอนประกัน เชื่อว่าจะเป็นบทเรียนของผู้ใช้อำนาจให้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นกำลังใจให้เราต่อสู้ ยืนยันว่าต่อจากนี้จะมีการยกระดับ และเดินหน้าชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.ต่อไป มั่นใจว่าต่อจากนี้จะมีคดีมาอีกแน่ แต่เชื่อว่าเราจะชนะร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเผด็จการ และฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับเรา ยืนยันว่าไม่กังวลหากจะมีคดีความใดอีก เพราะหากจะจับปลา ลงน้ำก็ต้องเปียกอยู่ดี
“ไมค์” ชี้ประสบการณ์ใหม่นอนคุก
นายภาณุพงศ์กล่าวว่า ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ให้โอกาสเราได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ คุกอาจขังเราได้แค่ตัว แต่ไม่อาจขังอุดมการณ์และความเป็นนักสู้ของเราได้ จากนี้จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้ได้จุดหมายเดิมของเราต่อไป อย่างไรก็ตามการที่พวกตนตัดสินใจไม่ยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล เพราะนั่นเป็นการตีกรอบพวกตนมากเกินไป มันไม่ยุติธรรมกับพวกเรา สำหรับโทษจำคุกนั้น นับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องปรับตัวเยอะพอสมควร บรรยากาศภายในเรือนจำไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ไม่มีใครปองร้ายเรา ที่สำคัญยังพบนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ได้ให้กำลังใจพวกตน เพราะยุคนี้ตัวเขาไม่มีสิทธิ์ไปสั่งเด็กๆให้ทำหรือไม่ทำอะไรแล้ว มีแต่แรงและกำลังใจให้นักเรียนนักศึกษา
September 08, 2020 at 05:25AM
https://ift.tt/3icDy3B
ฝ่ายค้านดันแก้รัฐธรรมนูญ 2 แบบ - ไทยรัฐ
https://ift.tt/39v22A5
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ฝ่ายค้านดันแก้รัฐธรรมนูญ 2 แบบ - ไทยรัฐ"
Post a Comment